แนวทางลดคาร์บอนฟุตพริ้นต์สำหรับองค์กร พร้อมก้าวเป็นธุรกิจคาร์บอนต่ำและยั่งยืน 

จากรายงานของคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Intergovernmental Panel on Climate Change: IPCC) ปี พ.ศ. 2561 เปิดเผยว่า เพื่อบรรลุเป้าหมาย Net-Zero ในปี พ.ศ. 2593 ด้วยการจำกัดอุณหภูมิโลกไม่ให้เพิ่มขึ้น 1.5 องศา ทั่วโลกจำเป็นต้องลดปริมาณการปล่อยคาร์บอนลงราว 45% ภายในพ.ศ. 2573 หลายประเทศทั่วโลกจึงตั้งเป้าหมายลดคาร์บอนเป็นศูนย์ รวมถึงภาคธุรกิจในประเทศไทย ที่เริ่มผนวกกลยุทธ์ด้านความยั่งยืนเป็นส่วนหนึ่งในการดำเนินงาน เพื่อเตรียมก้าวเข้าสู่การเป็นธุรกิจคาร์บอนต่ำให้สอดรับกับเทรนด์โลก 

การประเมินคาร์บอนฟุตพริ้นต์ขององค์กร (Carbon Footprint for Organization : CFO) จะเป็นหนึ่งในเครื่องมือที่ชี้ให้เห็นภาพรวมการปล่อยคาร์บอนจากการดำเนินงาน และเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญในการก้าวสู่ความยั่งยืน 

คาร์บอนฟุตพริ้นต์ขององค์กรมาจากไหนบ้าง

คาร์บอนฟุตพริ้นต์ หมายถึง ปริมาณก๊าซเรือนกระจกทั้งหมด รวมถึงก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่เกิดขึ้นจากการดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ โดยแหล่งที่มาของคาร์บอนฟุตพริ้นต์ขององค์กร สามารถแบ่งออกเป็น 3 ขอบเขต ดังนี้ 

ขอบเขตที่ 1 : การปล่อยคาร์บอนทางตรงจากกิจกรรมขององค์กร เช่น การใช้เครื่องปรับอากาศภายในอาคาร กระบวนการผลิตสินค้าในโรงงาน 

ขอบเขตที่ 2 : การปล่อยคาร์บอนทางอ้อมจากแหล่งพลังงานที่องค์กรซื้อมา เช่น การซื้อพลังงานไฟฟ้า หรือพลังงานความร้อน เข้ามาใช้ภายในองค์กร 

ขอบเขตที่ 3 : การปล่อยคาร์บอนทางอ้อมอื่น ๆ ในห่วงโซ่อุปทาน ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ เช่น การขนส่งวัตถุดิบ การจัดจำหน่ายสินค้าและบริการ การจัดการขยะ และการเดินทางของพนักงาน 

ธุรกิจมีการปล่อยคาร์บอนในขอบเขตใดมากที่สุด

ลักษณะการดำเนินงานที่แตกต่างกันไปในแต่ละธุรกิจส่งผลให้แหล่งที่มาของคาร์บอนฟุตพริ้นต์แตกต่างกัน จากรายงานของสถาบันประเมินความยั่งยืนระดับโลก (Carbon Disclosure Project: CDP) เมื่อพ.ศ. 2566 พบว่า 

ธุรกิจที่ปล่อยคาร์บอนในขอบเขตที่ 1 มากที่สุด สองลำดับแรก ได้แก่ อุตสาหกรรมซีเมนต์ (79%) และอุตสาหกรรมเหล็ก (67%) เนื่องจากใช้พลังงานฟอสซิลในกระบวนการผลิต ลำดับถัดมา คือ อุตสาหกรรมบริการขนส่งสินค้า (64%) เนื่องจากใช้รถยนต์พลังงานเชื้อเพลิง 

การปล่อยคาร์บอนในขอบเขตที่ 2 เป็นขอบเขตที่ธุรกิจปล่อยคาร์บอนน้อยที่สุด โดยเฉลี่ยอยู่ที่ 2-5% เท่านั้นเมื่อเทียบกับขอบเขตอื่น ๆ 

ส่วนธุรกิจที่ปล่อยคาร์บอนในขอบเขตที่ 3 มากที่สุด ประกอบด้วย ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ (93%) จากการใช้วัสดุก่อสร้างและการใช้ไฟฟ้าของผู้อาศัยในอาคาร ตามมาด้วยอุตสาหกรรมการเกษตร (92%) จากการซื้อสินค้าและการแปรรูปผลิตภัณฑ์ และถัดมา คือ อุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม (87%) จากการซื้อสินค้าและบริการ การเดินทางและการจัดจำหน่ายสินค้าซึ่งเกิดขึ้นภายในห่วงโซ่อุปทาน 

มุ่งสู่ธุรกิจคาร์บอนต่ำ ด้วยโซลูชันพลังงานสะอาด 

หลังจากที่องค์กรประเมินการปล่อยคาร์บอนฟุตพริ้นต์แล้ว จะพบการดำเนินงานที่ปล่อยคาร์บอนมากที่สุด องค์กรจึงสามารถเลือกใช้โซลูชันพลังงานสะอาดเพื่อลดการปล่อยคาร์บอนได้อย่างตรงจุด และบรรลุเป้าหมาย Net-Zero ตามที่กำหนดไว้ 

ขอบเขตที่ 1 : ใช้ไฟฟ้าอย่างคุ้มค่าด้วยระบบจัดการพลังงาน 

คาร์บอนที่เกิดขึ้นโดยองค์กรมักเกิดจากการใช้ไฟฟ้าในอาคาร การใช้พลังงานในกระบวนการผลิต ธุรกิจที่ปล่อยคาร์บอนในขอบเขตนี้มากที่สุด ควรติดตั้งระบบจัดการพลังงาน (Energy Management System) เช่น ระบบวิเคราะห์การใช้พลังงานอัจฉริยะ (AI Building Automation and Control System) และระบบผลิตความเย็นจากส่วนกลาง (District Cooling System) เพื่อใช้ไฟฟ้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงเลือกใช้รถยนต์ไฟฟ้าภายในโรงงาน 

ขอบเขตที่ 2 : ผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานสะอาด ลดค่าใช้จ่ายอย่างยั่งยืน 

องค์กรสามารถลดการปล่อยคาร์บอนและลดค่าใช้จ่ายในระยะยาว ด้วยการใช้พลังงานหมุนเวียนอย่างโซลาร์รูฟท็อป โซลาร์ลอยน้ำ หรือกังหันลม โดยเลือกซื้อไฟฟ้าจากภาคเอกชน (Power Purchase Agreement: PPA) เช่น ไฟฟ้าพลังงานสะอาดจากบ้านปู เน็กซ์ รวมถึงองค์กรสามารถบริหารจัดการพลังงานได้อย่างมีประสิทธิภาพด้วยดิจิทัลแพลตฟอร์มได้ 

ขอบเขตที่ 3 : ร่วมมือกับคู่ค้าเพื่อสร้างสังคมไร้คาร์บอน 

การปล่อยคาร์บอนของห่วงโซ่อุปทานเป็นขอบเขตที่ควบคุมได้ยาก แต่องค์กรก็สามารถร่วมมือกับคู่ค้าเพื่อลดการปล่อยคาร์บอนได้ เช่น ผลักดันการใช้ยานพาหนะไฟฟ้า (e-Mobility) ในกระบวนการขนส่งและเดินทาง หรือนำระบบจัดการขยะ (Waste Management) เข้ามาใช้ในองค์กร 

การเลือกใช้โซลูชันพลังงานสะอาดจึงเป็นกุญแจสำคัญในการลดการคาร์บอนของธุรกิจ ซึ่งบ้านปู เน็กซ์ พร้อมเป็นพาร์เนอร์ในการออกแบบโซลูชัน เพื่อผลักดันทุกธุรกิจให้บรรลุเป้าหมาย Net-Zero และมีส่วนช่วยขับเคลื่อนสังคมไร้คาร์บอนให้เกิดขึ้นจริง สำหรับธุรกิจที่สนใจโซลูชันพลังงานสะอาด ติดต่อ 02-095-6599

#BanpuNEXT #TotalSmartEnergySolutions #NetZeroSociety

อ้างอิง 

  • https://www.ipcc.ch/2018/10/08/summary-for-policymakers-of-ipcc-special-report-on-global-warming-of-1-5c-approved-by-governments/ 
  • https://www.britannica.com/science/carbon-footprint 
  • https://www.nationalgrid.com/stories/energy-explained/what-are-scope-1-2-3-carbon-emissions 
  • https://cdn.cdp.net/cdp-production/cms/guidance_docs/pdfs/000/003/504/original/CDP-technical-note-scope-3-relevance-by-sector.pdf?1649687608 
  • https://watchwire.ai/reduce-your-scope-1-2-and-3-emissions/